
ใน ปัจจุบันมีคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่คนไทยใช้กันจนติดปากอยู่มากมาย แต่คุณเคยรู้ไหมว่ามีบางคำที่ฝรั่งเค้าไม่ได้ใช้อย่างที่เราพูดกันติดปาก 10 ตัวอย่างที่คนไทยมักใช้อย่างผิดๆพร้อมทั้งคำที่ถูกต้องซึ่งคุณควรนำไปใช้ เวลาคุยกับฝรั่ง
1) อินเทรนด์ (in trend) คำนี้อินเทรนด์มากๆ เอ๊ย...ฮิตมากๆ ในปัจจุบัน สามารถได้ยินตามรายการวิทยุหรือโทรทัศน์ทั่วไป เพราะใช้กันทั่วบ้านทั่วเมือง เช่น เด็กสมัยนี้ถ้าจะให้อินเทรนด์ต้องตามแฟชั่นเกาหลี ซึ่งบางทีเวลาคุณต้องการพูดว่า “มันทันสมัย” คุณอาจจะติดปากว่า “It is in trend.” คำว่า “ทันสมัย” ฝรั่งเค้าไม่ใช้คำว่า “in trend” อย่างคนไทยหรอกครับ เค้าจะใช้คำว่า “trendy” หรือ “fashionable” ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์ที่คุณสามารถวางไว้หน้าคำนามที่ต้องการขยาย เช่น a trendy haircut ทรงผมที่ทันสมัย, a fashionable restaurant ร้านอาหารที่ทันสมัย หรือจะไว้หลัง verb to be เช่น It is trendy. หรือ It is fashionable. ก็ได้
2) เว่อร์ (over) เช่น ใยคนนั้นทำอะไรเว่อร์ๆ She is over. ไม่มีความหมายแต่อย่างใดในภาษาอังกฤษ ฝรั่งที่ได้ยินคุณพูดเช่นนี้ คงมึนตึบ พร้อมทำสีหน้างงว่ามันหมายถึงอะไรเหรอ? พูดถึงคำนี้ คนไทยน่าจะหมายถึงการพูดเกินจริงหรือทำเกินจริง ซึ่งถ้าพูดเกินจริง ควรจะใช้คำศัพท์ที่ว่า “exaggerate” เป็นคำกิริยา อ่านว่า เอก-แซ้ก-เจ่อ-เรท เช่น
"He said you walked 30 miles." เค้าบอกว่าคุณเดินตั้ง 30 ไมล์
"No - he's exaggerating. It was only about 15." ไม่หรอก เค้าพูดเว่อร์ (เกินจริง) มันก็แค่ 15 ไมล์เอง
ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า เธอพูดเว่อร์น่ะ ก็บอกว่า You’re exaggerating. หรือจะบอกเค้าว่า อย่าพูดเว่อร์ๆ น่ะ อาจใช้ว่า Don’t exaggerate. ส่วนอาการเว่อร์อีกแบบคือการทำเกินจริง เราจะใช้คำกิริยาที่ว่า “overact” เช่น You’re overacting. เธอทำเว่อร์เกิน (แสดงอารมณ์เกินจริง)
3) ดูหนัง soundtrack เวลาคุณจะบอกใคร ว่า ฉันต้องการดูหนังฝรั่งที่พากย์ภาษาอังกฤษ อย่าพูดว่า “I want to watch a soundtrack film.” แต่ควรจะใช้ว่า “I want to watch an English film.” เพราะความหมายของคำว่า “soundtrack” คือ ดนตรีที่อยู่ในภาพยนตร์ ต่างหากล่ะครับ
ถ้าเราจะพูดถึงหนังฝรั่งที่พากย์เสียงภาษาไทย เราต้องบอกว่า “I want to watch an English film that is dubbed into Thai.” เพราะคำกิริยาว่า “dub” คือพากย์เสียงจากต้นแบบในหนังหรือรายการโทรทัศน์ไปเป็นภาษาอื่น
ส่วนหนังที่มีคำบรรยายใต้ภาพเราเรียกว่า “a subtitled film” ซึ่งคำบรรยายที่อยู่ใต้ภาพ เราเรียกว่า “subtitles” (ต้องมี s ต่อท้ายเสมอนะครับ) เช่น a French film with English subtitles หนังฝรั่งเศสที่มีคำบรรยายใต้ภาพเป็นภาษาอังกฤษ
หนังบางเรื่องจะมีคำบรรยายใต้ภาพเป็นภาษาเดียวกับที่นักแสดงพูด เรามีศัพท์เรียกเฉพาะว่า “closed-captioned films/videos/television programs” หรือ อาจเขียนย่อๆ ว่า “CC” เช่น You should watch a closed-captioned film to improve your English. คุณควรจะดูหนังฝรั่งที่มีคำบรรยายภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษของคุณ
4) นักศึกษาปี 1 คนไทยมักเรียกว่า “freshy” ซึ่งฝรั่งไม่รู้เรื่องหรอกครับ เพราะไม่มีการบัญญัติศัพท์คำนี้ในภาษาอังกฤษ
เค้าจะใช้คำว่า “fresher” หรือ “freshman” เช่น He is a fresher. หรือ He is a freshman. หรือ He is a first-year student. เขาเป็นนักศึกษาปี 1 ส่วนปีอื่นๆ คนไทยเรียกถูกแล้วครับ คือ ปี 2 เราเรียก a sophomore, ปี 3 เรียกว่า a junior และปี 4 เรียกว่า a senior
5) อัดหรือบันทึก คนไทยมักพูดทับศัพท์ว่า เร็คคอร์ด (record) คำๆ นี้สามารถเป็นได้ทั้งคำนามและคำกิริยา เพียงแค่เปลี่ยนตำแหน่ง stress กล่าวคือ ถ้าจะใช้เป็นคำนามที่แปลว่า แผ่นเสียงหรือสถิติ ให้ขึ้นเสียงสูงที่พยางค์แรก คือ “เร็ค-คอร์ด” เช่น He wants to buy a record. เขาต้องการซื้อแผ่นเสียง, I broke my own record. ฉันทำลายสถิติของฉันเอง แต่ถ้าคุณจะหมายถึงคำกิริยาที่แปลว่า อัดหรือบันทึก ต้อง stress พยางค์หลัง ซึ่งจะอ่านว่า “รี-คอร์ด” เช่น I'll record the film and we can all watch it later. ฉันจะอัดหนัง เราจะได้เก็บไว้ดูทีหลังได้ ส่วนเครื่องบันทึก เราเรียกว่า “recorder” อ่านว่า รี-คอร์-เดอร์
6) ต่างคนต่างจ่าย เรามักใช้ American share รับรองว่าฝรั่ง(ต่อให้เป็นชาวอเมริกันด้วยครับ) ได้ยินแล้ว งงแน่นอน ถ้าคุณจะหมายถึงต่างคนต่างจ่ายให้ใช้ว่า “Let’s go Dutch.” หรือ “Go Dutch (with somebody).” อันนี้ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นธรรมเนียมของชาวดัตช์หรือเปล่า? ที่ต่างคนต่างจ่ายเลยมีสำนวนอย่างนี้ หรือคุณอาจจะบอกตรงๆ เลยว่า “You pay for yourself.” คือเป็นอันรู้กันว่าต่างคนต่างจ่าย แต่ถ้าคุณต้องการเป็นเจ้ามือ(ไม่ใช่เล่นไพ่นะครับ)เลี้ยงมื้อนี้เอง คุณควรพูดว่า “It’s my treat this time.” หรือ “My treat.” หรือ “It’s on me.” หรือ “All is on me.” หรือ “I’ll pay for you this time.” ทั้งหมดแปลว่า มื้อนี้ฉันจ่ายเอง ส่วนถ้าจะบอกเพื่อนว่า คราวหน้าแกค่อยเลี้ยงฉันคืน ให้บอกว่า “It’s your treat next time.”
7) ขอฉันแจม (jam) ด้วยคน ในกรณีนี้คำว่า “แจม” น่าจะหมายถึง “ร่วมด้วย” เช่น We are going to eat outside. Do you want to jam? เรากำลังจะออกไปกินข้าวข้างนอก เธอจะไปด้วยมั้ย? ในภาษาอังกฤษไม่ใช้คำว่า jam ในกรณีแบบนี้ ซึ่งควรจะใช้ว่า “Do you want to join us?”, “Do you want to come with us?” หรือ “Do you want to come along?” จะดีกว่าครับ
8) เขามีแบ็ค (back) ดี “He has a good back.” ฝรั่งคงงงว่ามันเกี่ยวอะไรกับข้างหลังของเค้า เพราะ back แปลว่า หลัง (อวัยวะ) แต่คุณกำลังจะพูดถึงมีคนคอยสนับสนุน ซึ่งต้องใช้ “a backup” ซึ่งหมายถึง คนหรือสิ่งของที่ช่วยสนับสนุน ช่วยเหลือ เกื้อกูล เป็นกำลังใจให้ เช่น “He has a good backup.” เขามีคนคอยหนุนที่ดี
9) ฉันเรียนภาษากับชาวต่างชาติ I learn the language with a foreigner. คำว่า “foreigner” หมายถึง ชาวต่างชาติโดยทั่วๆ ไป แต่จริงๆ คุณต้องการจะสื่อว่าเรียนภาษากับเจ้าของภาษา ซึ่งควรจะใช้คำว่า “a native speaker” จะเหมาะกว่านะครับ
เช่น “I learn the language with a native speaker.” ฉันเรียนภาษากับเจ้าของภาษา ส่วนคนที่พูดได้ 2 ภาษาดีเท่าๆ กันเราจะใช้คำคุณศัพท์ว่า “bilingual” เช่น เด็กลูกครึ่งที่พูดได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษไงครับ “Their kids are bilingual.” ลูกของเขาพูดได้ 2 ภาษาดีพอๆ กัน
10) ฉันไปตัดผมมาเมื่อวานนี้ I cut my hair yesterday. ถ้าคุณพูดอย่างนี้หมายถึงคุณตัดผมด้วยตัวเองนะครับ ซึ่งแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ตัดผมด้วยตัวเอง แต่ให้ช่างตัดผมตัดให้ คุณควรจะบอกว่า “I had/got my hair cut yesterday.” ซึ่งรูปประโยคคือ “To have/get + กรรม (สิ่งที่ถูกกระทำ) + กิริยาช่องสาม” ดังนั้นถ้าคุณจะบอกว่า ฉันจะเอารถไปซ่อมวันพรุ่งนี้ ก็ต้องบอกว่า “I will have/get the car repaired tomorrow.”
ดังนั้น ต่อไปเวลาคุณใช้ภาษาอังกฤษกับคำเหล่านี้ ควรจะใช้อย่างถูกต้อง ฝรั่งจะได้ไม่งงเวลาคุณพูดไงครับ
ภาษาอังกฤษแบบผิดๆ ที่ฮิตติดปากคนไทย ตอน “อาชีพที่น่าสนใจว่าฝรั่งเค้าเรียกว่ายังไง?”
อาชีพหนึ่งที่น่าสนใจว่าฝรั่งเค้าเรียกเหมือนกับเราหรือเปล่า? คือ “พริตตี้ (pretty)” ซึ่ง คนไทยจะหมายถึงนางแบบตามงาน event ต่างๆ โดยเฉพาะงาน motor show ที่ผู้ชายหลายคนไปเพราะไปดูพริตตี้ก็คุ้มแล้ว (ได้ดูรถเป็นผลพลอยได้ หรือเปล่า?) คำว่า “pretty” ในภาษาอังกฤษ เป็นได้ทั้งคำคุณศัพท์ (adjective) ที่แปลว่า น่ารัก หรือ สวยน่ามอง เช่น a pretty girl คือ เด็กผู้หญิงน่ารัก, She has a pretty face. เธอมีหน้าตาน่ารัก หรือคำวิเศษณ์ (adverb) มีความหมายว่า “ค่อนข้างจะ” ซึ่งมักจะใช้เป็นภาษาพูด ความหมายจะคล้ายๆ กับ rather แต่คำว่า rather ดูจะเป็นทางการมากกว่าใช้กับภาษาเขียนได้ดีกว่า เช่น Five o’clock? That’s pretty early. ห้าโมงเหรอ? มันค่อนข้างเร็วไปหน่อยนะ, It’s pretty cold. มันค่อนข้างเย็นเลยทีเดียว
แล้วตกลง “พริตตี้” ที่คนไทยเรียก ผู้หญิงสวยๆ ตามงาน event หล่ะ ฝรั่งเค้าจะเรียกว่าอะไร? คำตอบก็คือ “model” ที่แปลว่า “นางแบบ” นั่นแหละ เพียงแต่คุณอาจจะระบุไปว่า model(s) at exhibitions คือ นางแบบที่งานนิทรรศการ
อาชีพต่อไปที่น่าสนใจคือ “โปรกอล์ฟ” น่าสนใจว่าฝรั่งเค้าจะเรียกเหมือนเราหรือเปล่า? คำว่า “pro” ในที่นี้ย่อมาจาก “professional” ที่แปลว่า “มืออาชีพ” ถ้าเป็นนักกีฬาอาชีพ ต้องจดทะเบียนกับสมาคมของกีฬานั้น ซึ่งทางสมาคมจะออกบัตรประจำตัวรับรองความเป็นนักกีฬามืออาชีพให้ ส่วนนักกีฬามือสมัครเล่น ฝรั่งเค้าเรียกว่า “amateur” (อ่านว่า แอ๊ม-มะ-เจอะ)
เวลานำคำว่า “pro” ไปใช้อาจจะระบุชื่อกีฬาเพื่อกันความสับสน เช่น He is a golf pro. (สังเกตนะครับว่า เค้าไม่ได้เรียกว่า “pro golf” อย่างคนไทย) หรือ He is a professional golfer., He is a tennis pro, He is a professional tennis player. คนไทยมักจะเรียก “pro” นำชื่อคน เช่น pro Tiger ซึ่งฝรั่งไม่ได้เรียกเช่นนี้ เค้าจะเรียกชื่อไปเลย เช่น (Mr.) Tiger Woods หรือ Mr. Woods โดยไม่ต้องมีคำว่า pro นำหน้าชื่อ
อาชีพต่อไปคือ “บ๋อย” บางคนนึกว่าคำนี้ในภาษาอังกฤษ คือคำว่า “boy” อย่าเผลอไปเรียกอย่างนี้เด็ดขาดนะครับ เค้าอาจจะตีความว่าคุณกำลังดูถูกเค้าได้ ถ้าจะหมายถึงบริกรผู้ชายที่บริการเราในร้านอาหาร ต้องใช้คำว่า “waiter” หรือถ้าเป็นผู้หญิงใช้ว่า “waitress” หรือชาวอเมริกันอาจจะใช้คำว่า “server” ก็ ได้ แต่เวลาคุณจะเรียกบ๋อยมาสั่งอาหาร ก็ไม่ควรตะโกนเรียกเค้าว่า “waiter” หรือ “waitress” แต่ควรใช้คำว่า “Excuse me” จะดีที่สุด
อีกอย่างเวลาคุณจะสั่งคิดตังค์ คนไทยมักใช้ว่า เช็คบิล (check bill) แต่ฝรั่งเค้าจะใช้ว่า “check please” หรือ “bill please” อย่าใช้ทั้งสองคำทีเดียว
ส่วนพนักงานยกกระเป๋าในโรงแรม ฝรั่งชาวอังกฤษเรียก “bellboy” ส่วนชาวอเมริกันจะเรียก “bellhop” นอกจากนี้ ฝรั่งทั่วไปเค้าจะเรียก พนักงานยกกระเป๋าที่สนามบินหรือสถานีรถไฟ ว่า “porter” และชาวอเมริกันอาจจะเรียกว่า “redcap” ก็ได้ อีกคำที่ชาวอเมริกันใช้เรียกพนักงานยกกระเป๋าที่สนามบินคือ “skycap”
เป็น presenter โฆษณา มันผิดตรงไหนเหรอ?”
“นี่ เธอดูโฆษณาเดี๋ยวนี้สิ มาริโอ้ ดารานำจากหนังเรื่องรักแห่งสยามยังดังไม่หยุดเลยได้เป็น presenter โฆษณาตั้งหลายชิ้นแน่ะ เปิดไปช่องไหนก็เจอ”
คนไทยได้ยินประโยคนี้คงลื่นหู ไม่เห็นจะผิดตรงไหน แต่ถ้าคุณพูดกับฝรั่งแล้วใช้คำว่า “presenter” กับความหมายที่ว่า เป็นคนที่โฆษณาสินค้าซึ่งมักจะเห็นทางโทรทัศน์หรือนิตยสารอยู่บ่อยๆ อย่างนี้ ฝรั่งเค้าจะใช้คำว่า “promoter”
ซึ่งคนไทยนำมาใช้กับ “โปรโมเตอร์มวย” เท่านั้น คืออย่างนี้ครับ คำว่า “promoter” ในภาษาอังกฤษมี 2 ความหมายคือ
- คนจัดงานและโฆษณางานคอนเสิร์ตหรืองานกีฬา เช่น โปรโมเตอร์มวย เราเรียกว่า “a boxing promoter”
- คนที่โฆษณาชักชวนให้ผู้อื่นใช้ของบางอย่างหรือสนับสนุนบางอย่าง ซึ่งในความหมายนี้แหละครับที่คนไทยนำมาเรียกว่าเป็น presenter โฆษณา
อ้าว!...แล้วคำว่า Presenter ล่ะครับ มีความหมายอย่างไรในเซ้นส์ของฝรั่ง คุณคงนึกถามผมอยู่ในใจใช่มั้ย? (ถ้าผมเดาใจคุณถูก ขอให้ผมถูกรางวัลที่ 1 เหมือนเดาใจคุณถูกละกัน!...ล้อเล่นน่ะครับ มันจะถูกได้ไง? ในเมื่อปกติผมไม่ได้ซื้อล็อตเตอรี่หรอก) ฝรั่งผู้ดีฝั่งอังกฤษ เค้ามักใช้คำว่า presenter หมายถึง ผู้แนะนำรายการหรือแนะนำคนอื่นๆ ในทีวีหรือวิทยุ อย่างเวลาจบรายการหนึ่งแล้วจะมีผู้หญิงสวยๆ ออกมาบอกว่ารายการต่อไปเป็นรายการอะไร นั่นแหละครับที่เรียกว่า “presenter” ของจริง หรืออย่างเวลาเราดูงานประกาศผลรางวัลต่างๆ ทางโทรทัศน์ “presenter” คือคนที่ออกมาประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัล (nominee)
ส่วนคนที่ออกมามอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะ เราเรียกว่า “presenter of the award”
บางคนอาจสงสัยต่อว่าแล้วพิธีกรในงานประกาศผลรางวัลเราจะเรียกว่าอะไร? เราเรียกว่า "MC" ครับซึ่งย่อมาจาก "Master of Ceremonies" คือพิธีกรที่แนะนำแขกหรือนักแสดงในงาน eventต่างๆ ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “host” ที่ คนไทยส่วนใหญ่รู้จักในความหมายของ “เจ้าภาพ”แต่ยังมีอีกความหมาย คือ พิธีกรในทีวีซึ่งอาจจะเป็นรายการเกมส์โชว์, ทอล์คโชว์ เช่น วิทวัสเป็น host ของรายการตีสิบมานาน หรืออาจใช้หมายถึงพิธีกรหลักในงานประกาศผลรางวัลก็ได้ครับ
ไหนๆ ผมก็พูดถึงแวดวงทีวี, วิทยุแล้วก็อยากแถมศัพท์ที่เกี่ยวข้องอีก เช่น “คนอ่านข่าว” ชาวอังกฤษเรียกว่า “newsreader” ตรงๆ เลยครับ แต่ชาวอเมริกันมักใช้คำว่า “anchor” (อ่านว่า แอ๊ง-เขอะ) บางคนอาจจำได้ว่าคำนี้แปลว่า “สมอเรือ” เก่งมากครับ...ถ้าจำได้ ถูกต้องแล้ว คำนี้มีได้หลายความหมายครับ
คนสัมภาษณ์ในรายการทีวี เรียกว่า “interviewer” ตรงๆ ก็ได้นะครับ คนที่พากย์กีฬาต่างๆ เช่น คนพากย์ฟุตบอล เราเรียกคนพวกนี้ว่า “a sports commentator” พูด ถึงคำว่าคอมเมนเตเตอร์ คนสมัยนี้ต้องนึกถึงการประกวดร้องเพลง AF แน่นอน (แหม...อินเทรนด์ เอ้ย...trendy จริงๆ เลยเรา) เพราะเค้าจะใช้เรียกกรรมการที่มีความรู้มาวิพากษ์วิจารณ์ผู้เข้าประกวด ซึ่งก็ถูกต้องแล้วครับ
ตอนนี้คุณน่าจะรู้จักชื่ออาชีพที่ใช้ในภาษาอังกฤษมากพอสมควร หวังว่าคงได้ประโยชน์บ้าง อย่าลืมนำไปใช้บ่อย
อ้างอิง : http://sinebusii.exteen.com/20100107/entry-2