My experiences

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

10 ตัวอย่างภาษาอังกฤษแบบผิดๆ ที่ฮิตติดปากคนไทย


ใน ปัจจุบันมีคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่คนไทยใช้กันจนติดปากอยู่มากมาย แต่คุณเคยรู้ไหมว่ามีบางคำที่ฝรั่งเค้าไม่ได้ใช้อย่างที่เราพูดกันติดปาก  10 ตัวอย่างที่คนไทยมักใช้อย่างผิดๆพร้อมทั้งคำที่ถูกต้องซึ่งคุณควรนำไปใช้ เวลาคุยกับฝรั่ง


1) อินเทรนด์ (in trend) คำนี้อินเทรนด์มากๆ เอ๊ย...ฮิตมากๆ ในปัจจุบัน สามารถได้ยินตามรายการวิทยุหรือโทรทัศน์ทั่วไป เพราะใช้กันทั่วบ้านทั่วเมือง เช่น เด็กสมัยนี้ถ้าจะให้อินเทรนด์ต้องตามแฟชั่นเกาหลี ซึ่งบางทีเวลาคุณต้องการพูดว่า “มันทันสมัย” คุณอาจจะติดปากว่า “It is in trend.” คำว่า “ทันสมัย” ฝรั่งเค้าไม่ใช้คำว่า “in trend” อย่างคนไทยหรอกครับ เค้าจะใช้คำว่า “trendy” หรือ “fashionable” ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์ที่คุณสามารถวางไว้หน้าคำนามที่ต้องการขยาย เช่น a trendy haircut ทรงผมที่ทันสมัย, a fashionable restaurant ร้านอาหารที่ทันสมัย หรือจะไว้หลัง verb to be เช่น It is trendy. หรือ It is fashionable. ก็ได้


2) เว่อร์ (over) เช่น ใยคนนั้นทำอะไรเว่อร์ๆ She is over. ไม่มีความหมายแต่อย่างใดในภาษาอังกฤษ ฝรั่งที่ได้ยินคุณพูดเช่นนี้ คงมึนตึบ พร้อมทำสีหน้างงว่ามันหมายถึงอะไรเหรอ? พูดถึงคำนี้ คนไทยน่าจะหมายถึงการพูดเกินจริงหรือทำเกินจริง ซึ่งถ้าพูดเกินจริง ควรจะใช้คำศัพท์ที่ว่า “exaggerate” เป็นคำกิริยา อ่านว่า เอก-แซ้ก-เจ่อ-เรท เช่น


"He said you walked 30 miles." เค้าบอกว่าคุณเดินตั้ง 30 ไมล์
"No - he's exaggerating. It was only about 15." ไม่หรอก เค้าพูดเว่อร์ (เกินจริง) มันก็แค่ 15 ไมล์เอง


ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า เธอพูดเว่อร์น่ะ ก็บอกว่า You’re exaggerating. หรือจะบอกเค้าว่า อย่าพูดเว่อร์ๆ น่ะ อาจใช้ว่า Don’t exaggerate. ส่วนอาการเว่อร์อีกแบบคือการทำเกินจริง เราจะใช้คำกิริยาที่ว่า “overact” เช่น You’re overacting. เธอทำเว่อร์เกิน (แสดงอารมณ์เกินจริง)


3) ดูหนัง soundtrack เวลาคุณจะบอกใคร ว่า ฉันต้องการดูหนังฝรั่งที่พากย์ภาษาอังกฤษ อย่าพูดว่า “I want to watch a soundtrack film.” แต่ควรจะใช้ว่า “I want to watch an English film.” เพราะความหมายของคำว่า “soundtrack” คือ ดนตรีที่อยู่ในภาพยนตร์ ต่างหากล่ะครับ
ถ้าเราจะพูดถึงหนังฝรั่งที่พากย์เสียงภาษาไทย เราต้องบอกว่า “I want to watch an English film that is dubbed into Thai.” เพราะคำกิริยาว่า “dub” คือพากย์เสียงจากต้นแบบในหนังหรือรายการโทรทัศน์ไปเป็นภาษาอื่น
ส่วนหนังที่มีคำบรรยายใต้ภาพเราเรียกว่า “a subtitled film” ซึ่งคำบรรยายที่อยู่ใต้ภาพ เราเรียกว่า “subtitles” (ต้องมี s ต่อท้ายเสมอนะครับ) เช่น a French film with English subtitles หนังฝรั่งเศสที่มีคำบรรยายใต้ภาพเป็นภาษาอังกฤษ


หนังบางเรื่องจะมีคำบรรยายใต้ภาพเป็นภาษาเดียวกับที่นักแสดงพูด เรามีศัพท์เรียกเฉพาะว่า “closed-captioned films/videos/television programs” หรือ อาจเขียนย่อๆ ว่า “CC” เช่น You should watch a closed-captioned film to improve your English. คุณควรจะดูหนังฝรั่งที่มีคำบรรยายภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษของคุณ


4) นักศึกษาปี 1 คนไทยมักเรียกว่า “freshy” ซึ่งฝรั่งไม่รู้เรื่องหรอกครับ เพราะไม่มีการบัญญัติศัพท์คำนี้ในภาษาอังกฤษ


เค้าจะใช้คำว่า “fresher” หรือ “freshman” เช่น He is a fresher. หรือ He is a freshman. หรือ He is a first-year student. เขาเป็นนักศึกษาปี 1 ส่วนปีอื่นๆ คนไทยเรียกถูกแล้วครับ คือ ปี 2 เราเรียก a sophomore, ปี 3 เรียกว่า a junior และปี 4 เรียกว่า a senior


5) อัดหรือบันทึก คนไทยมักพูดทับศัพท์ว่า เร็คคอร์ด (record) คำๆ นี้สามารถเป็นได้ทั้งคำนามและคำกิริยา เพียงแค่เปลี่ยนตำแหน่ง stress กล่าวคือ ถ้าจะใช้เป็นคำนามที่แปลว่า แผ่นเสียงหรือสถิติ ให้ขึ้นเสียงสูงที่พยางค์แรก คือ “เร็ค-คอร์ด” เช่น He wants to buy a record. เขาต้องการซื้อแผ่นเสียง, I broke my own record. ฉันทำลายสถิติของฉันเอง แต่ถ้าคุณจะหมายถึงคำกิริยาที่แปลว่า อัดหรือบันทึก ต้อง stress พยางค์หลัง ซึ่งจะอ่านว่า “รี-คอร์ด” เช่น I'll record the film and we can all watch it later. ฉันจะอัดหนัง เราจะได้เก็บไว้ดูทีหลังได้ ส่วนเครื่องบันทึก เราเรียกว่า “recorder” อ่านว่า รี-คอร์-เดอร์




6) ต่างคนต่างจ่าย เรามักใช้ American share รับรองว่าฝรั่ง(ต่อให้เป็นชาวอเมริกันด้วยครับ) ได้ยินแล้ว งงแน่นอน ถ้าคุณจะหมายถึงต่างคนต่างจ่ายให้ใช้ว่า “Let’s go Dutch.” หรือ “Go Dutch (with somebody).” อันนี้ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นธรรมเนียมของชาวดัตช์หรือเปล่า? ที่ต่างคนต่างจ่ายเลยมีสำนวนอย่างนี้ หรือคุณอาจจะบอกตรงๆ เลยว่า “You pay for yourself.” คือเป็นอันรู้กันว่าต่างคนต่างจ่าย แต่ถ้าคุณต้องการเป็นเจ้ามือ(ไม่ใช่เล่นไพ่นะครับ)เลี้ยงมื้อนี้เอง คุณควรพูดว่า “It’s my treat this time.” หรือ “My treat.” หรือ “It’s on me.” หรือ “All is on me.” หรือ “I’ll pay for you this time.” ทั้งหมดแปลว่า มื้อนี้ฉันจ่ายเอง ส่วนถ้าจะบอกเพื่อนว่า คราวหน้าแกค่อยเลี้ยงฉันคืน ให้บอกว่า “It’s your treat next time.”




7) ขอฉันแจม (jam) ด้วยคน ในกรณีนี้คำว่า “แจม” น่าจะหมายถึง “ร่วมด้วย” เช่น We are going to eat outside. Do you want to jam? เรากำลังจะออกไปกินข้าวข้างนอก เธอจะไปด้วยมั้ย? ในภาษาอังกฤษไม่ใช้คำว่า jam ในกรณีแบบนี้ ซึ่งควรจะใช้ว่า “Do you want to join us?”, “Do you want to come with us?” หรือ “Do you want to come along?” จะดีกว่าครับ




8) เขามีแบ็ค (back) ดี “He has a good back.” ฝรั่งคงงงว่ามันเกี่ยวอะไรกับข้างหลังของเค้า เพราะ back แปลว่า หลัง (อวัยวะ) แต่คุณกำลังจะพูดถึงมีคนคอยสนับสนุน ซึ่งต้องใช้ “a backup” ซึ่งหมายถึง คนหรือสิ่งของที่ช่วยสนับสนุน ช่วยเหลือ เกื้อกูล เป็นกำลังใจให้ เช่น “He has a good backup.” เขามีคนคอยหนุนที่ดี


9) ฉันเรียนภาษากับชาวต่างชาติ I learn the language with a foreigner. คำว่า “foreigner” หมายถึง ชาวต่างชาติโดยทั่วๆ ไป แต่จริงๆ คุณต้องการจะสื่อว่าเรียนภาษากับเจ้าของภาษา ซึ่งควรจะใช้คำว่า “a native speaker” จะเหมาะกว่านะครับ


เช่น “I learn the language with a native speaker.” ฉันเรียนภาษากับเจ้าของภาษา ส่วนคนที่พูดได้ 2 ภาษาดีเท่าๆ กันเราจะใช้คำคุณศัพท์ว่า “bilingual” เช่น เด็กลูกครึ่งที่พูดได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษไงครับ “Their kids are bilingual.” ลูกของเขาพูดได้ 2 ภาษาดีพอๆ กัน




10) ฉันไปตัดผมมาเมื่อวานนี้ I cut my hair yesterday. ถ้าคุณพูดอย่างนี้หมายถึงคุณตัดผมด้วยตัวเองนะครับ ซึ่งแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ตัดผมด้วยตัวเอง แต่ให้ช่างตัดผมตัดให้ คุณควรจะบอกว่า “I had/got my hair cut yesterday.” ซึ่งรูปประโยคคือ “To have/get + กรรม (สิ่งที่ถูกกระทำ) + กิริยาช่องสาม” ดังนั้นถ้าคุณจะบอกว่า ฉันจะเอารถไปซ่อมวันพรุ่งนี้ ก็ต้องบอกว่า “I will have/get the car repaired tomorrow.”


ดังนั้น ต่อไปเวลาคุณใช้ภาษาอังกฤษกับคำเหล่านี้ ควรจะใช้อย่างถูกต้อง ฝรั่งจะได้ไม่งงเวลาคุณพูดไงครับ








ภาษาอังกฤษแบบผิดๆ ที่ฮิตติดปากคนไทย ตอน “อาชีพที่น่าสนใจว่าฝรั่งเค้าเรียกว่ายังไง?”


อาชีพหนึ่งที่น่าสนใจว่าฝรั่งเค้าเรียกเหมือนกับเราหรือเปล่า? คือ “พริตตี้ (pretty)” ซึ่ง คนไทยจะหมายถึงนางแบบตามงาน event ต่างๆ โดยเฉพาะงาน motor show ที่ผู้ชายหลายคนไปเพราะไปดูพริตตี้ก็คุ้มแล้ว (ได้ดูรถเป็นผลพลอยได้ หรือเปล่า?) คำว่า “pretty” ในภาษาอังกฤษ เป็นได้ทั้งคำคุณศัพท์ (adjective) ที่แปลว่า น่ารัก หรือ สวยน่ามอง เช่น a pretty girl คือ เด็กผู้หญิงน่ารัก, She has a pretty face. เธอมีหน้าตาน่ารัก หรือคำวิเศษณ์ (adverb) มีความหมายว่า “ค่อนข้างจะ” ซึ่งมักจะใช้เป็นภาษาพูด ความหมายจะคล้ายๆ กับ rather แต่คำว่า rather ดูจะเป็นทางการมากกว่าใช้กับภาษาเขียนได้ดีกว่า เช่น Five o’clock? That’s pretty early. ห้าโมงเหรอ? มันค่อนข้างเร็วไปหน่อยนะ, It’s pretty cold. มันค่อนข้างเย็นเลยทีเดียว


แล้วตกลง “พริตตี้” ที่คนไทยเรียก ผู้หญิงสวยๆ ตามงาน event หล่ะ ฝรั่งเค้าจะเรียกว่าอะไร? คำตอบก็คือ “model” ที่แปลว่า “นางแบบ” นั่นแหละ เพียงแต่คุณอาจจะระบุไปว่า model(s) at exhibitions คือ นางแบบที่งานนิทรรศการ




อาชีพต่อไปที่น่าสนใจคือ “โปรกอล์ฟ” น่าสนใจว่าฝรั่งเค้าจะเรียกเหมือนเราหรือเปล่า? คำว่า “pro” ในที่นี้ย่อมาจาก “professional” ที่แปลว่า “มืออาชีพ” ถ้าเป็นนักกีฬาอาชีพ ต้องจดทะเบียนกับสมาคมของกีฬานั้น ซึ่งทางสมาคมจะออกบัตรประจำตัวรับรองความเป็นนักกีฬามืออาชีพให้ ส่วนนักกีฬามือสมัครเล่น ฝรั่งเค้าเรียกว่า “amateur” (อ่านว่า แอ๊ม-มะ-เจอะ)


เวลานำคำว่า “pro” ไปใช้อาจจะระบุชื่อกีฬาเพื่อกันความสับสน เช่น He is a golf pro. (สังเกตนะครับว่า เค้าไม่ได้เรียกว่า “pro golf” อย่างคนไทย) หรือ He is a professional golfer., He is a tennis pro, He is a professional tennis player. คนไทยมักจะเรียก “pro” นำชื่อคน เช่น pro Tiger ซึ่งฝรั่งไม่ได้เรียกเช่นนี้ เค้าจะเรียกชื่อไปเลย เช่น (Mr.) Tiger Woods หรือ Mr. Woods โดยไม่ต้องมีคำว่า pro นำหน้าชื่อ


อาชีพต่อไปคือ “บ๋อย” บางคนนึกว่าคำนี้ในภาษาอังกฤษ คือคำว่า “boy” อย่าเผลอไปเรียกอย่างนี้เด็ดขาดนะครับ เค้าอาจจะตีความว่าคุณกำลังดูถูกเค้าได้ ถ้าจะหมายถึงบริกรผู้ชายที่บริการเราในร้านอาหาร ต้องใช้คำว่า “waiter” หรือถ้าเป็นผู้หญิงใช้ว่า “waitress” หรือชาวอเมริกันอาจจะใช้คำว่า “server” ก็ ได้ แต่เวลาคุณจะเรียกบ๋อยมาสั่งอาหาร ก็ไม่ควรตะโกนเรียกเค้าว่า “waiter” หรือ “waitress” แต่ควรใช้คำว่า “Excuse me” จะดีที่สุด


อีกอย่างเวลาคุณจะสั่งคิดตังค์ คนไทยมักใช้ว่า เช็คบิล (check bill) แต่ฝรั่งเค้าจะใช้ว่า “check please” หรือ “bill please” อย่าใช้ทั้งสองคำทีเดียว




ส่วนพนักงานยกกระเป๋าในโรงแรม ฝรั่งชาวอังกฤษเรียก “bellboy” ส่วนชาวอเมริกันจะเรียก “bellhop” นอกจากนี้ ฝรั่งทั่วไปเค้าจะเรียก พนักงานยกกระเป๋าที่สนามบินหรือสถานีรถไฟ ว่า “porter” และชาวอเมริกันอาจจะเรียกว่า “redcap” ก็ได้ อีกคำที่ชาวอเมริกันใช้เรียกพนักงานยกกระเป๋าที่สนามบินคือ “skycap”








เป็น presenter โฆษณา มันผิดตรงไหนเหรอ?”


“นี่ เธอดูโฆษณาเดี๋ยวนี้สิ มาริโอ้ ดารานำจากหนังเรื่องรักแห่งสยามยังดังไม่หยุดเลยได้เป็น presenter โฆษณาตั้งหลายชิ้นแน่ะ เปิดไปช่องไหนก็เจอ”


คนไทยได้ยินประโยคนี้คงลื่นหู ไม่เห็นจะผิดตรงไหน แต่ถ้าคุณพูดกับฝรั่งแล้วใช้คำว่า “presenter” กับความหมายที่ว่า เป็นคนที่โฆษณาสินค้าซึ่งมักจะเห็นทางโทรทัศน์หรือนิตยสารอยู่บ่อยๆ อย่างนี้ ฝรั่งเค้าจะใช้คำว่า “promoter”


ซึ่งคนไทยนำมาใช้กับ “โปรโมเตอร์มวย” เท่านั้น คืออย่างนี้ครับ คำว่า “promoter” ในภาษาอังกฤษมี 2 ความหมายคือ


- คนจัดงานและโฆษณางานคอนเสิร์ตหรืองานกีฬา เช่น โปรโมเตอร์มวย เราเรียกว่า “a boxing promoter”


- คนที่โฆษณาชักชวนให้ผู้อื่นใช้ของบางอย่างหรือสนับสนุนบางอย่าง ซึ่งในความหมายนี้แหละครับที่คนไทยนำมาเรียกว่าเป็น presenter โฆษณา


อ้าว!...แล้วคำว่า Presenter ล่ะครับ มีความหมายอย่างไรในเซ้นส์ของฝรั่ง คุณคงนึกถามผมอยู่ในใจใช่มั้ย? (ถ้าผมเดาใจคุณถูก ขอให้ผมถูกรางวัลที่ 1 เหมือนเดาใจคุณถูกละกัน!...ล้อเล่นน่ะครับ มันจะถูกได้ไง? ในเมื่อปกติผมไม่ได้ซื้อล็อตเตอรี่หรอก) ฝรั่งผู้ดีฝั่งอังกฤษ เค้ามักใช้คำว่า presenter หมายถึง ผู้แนะนำรายการหรือแนะนำคนอื่นๆ ในทีวีหรือวิทยุ อย่างเวลาจบรายการหนึ่งแล้วจะมีผู้หญิงสวยๆ ออกมาบอกว่ารายการต่อไปเป็นรายการอะไร นั่นแหละครับที่เรียกว่า “presenter” ของจริง หรืออย่างเวลาเราดูงานประกาศผลรางวัลต่างๆ ทางโทรทัศน์ “presenter” คือคนที่ออกมาประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัล (nominee)


ส่วนคนที่ออกมามอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะ เราเรียกว่า “presenter of the award”




บางคนอาจสงสัยต่อว่าแล้วพิธีกรในงานประกาศผลรางวัลเราจะเรียกว่าอะไร? เราเรียกว่า "MC" ครับซึ่งย่อมาจาก "Master of Ceremonies" คือพิธีกรที่แนะนำแขกหรือนักแสดงในงาน eventต่างๆ ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “host” ที่ คนไทยส่วนใหญ่รู้จักในความหมายของ “เจ้าภาพ”แต่ยังมีอีกความหมาย คือ พิธีกรในทีวีซึ่งอาจจะเป็นรายการเกมส์โชว์, ทอล์คโชว์ เช่น วิทวัสเป็น host ของรายการตีสิบมานาน หรืออาจใช้หมายถึงพิธีกรหลักในงานประกาศผลรางวัลก็ได้ครับ


ไหนๆ ผมก็พูดถึงแวดวงทีวี, วิทยุแล้วก็อยากแถมศัพท์ที่เกี่ยวข้องอีก เช่น “คนอ่านข่าว” ชาวอังกฤษเรียกว่า “newsreader” ตรงๆ เลยครับ แต่ชาวอเมริกันมักใช้คำว่า “anchor” (อ่านว่า แอ๊ง-เขอะ) บางคนอาจจำได้ว่าคำนี้แปลว่า “สมอเรือ” เก่งมากครับ...ถ้าจำได้ ถูกต้องแล้ว คำนี้มีได้หลายความหมายครับ


คนสัมภาษณ์ในรายการทีวี เรียกว่า “interviewer” ตรงๆ ก็ได้นะครับ คนที่พากย์กีฬาต่างๆ เช่น คนพากย์ฟุตบอล เราเรียกคนพวกนี้ว่า “a sports commentator” พูด ถึงคำว่าคอมเมนเตเตอร์ คนสมัยนี้ต้องนึกถึงการประกวดร้องเพลง AF แน่นอน (แหม...อินเทรนด์ เอ้ย...trendy จริงๆ เลยเรา) เพราะเค้าจะใช้เรียกกรรมการที่มีความรู้มาวิพากษ์วิจารณ์ผู้เข้าประกวด ซึ่งก็ถูกต้องแล้วครับ


ตอนนี้คุณน่าจะรู้จักชื่ออาชีพที่ใช้ในภาษาอังกฤษมากพอสมควร หวังว่าคงได้ประโยชน์บ้าง อย่าลืมนำไปใช้บ่อย



อ้างอิง : http://sinebusii.exteen.com/20100107/entry-2

การใช้ภาษาอังกฤษ กับ อนาคตของไทยในอาเซียน

การใช้ภาษาอังกฤษ กับ อนาคตของไทยในอาเซียน 
ผุ้เขียน : ดร.
สมเกียรติ อ่อนวิมล
 
กฎบัตรอาเซียนข้อ 34 บัญญัติว่า “The working language of ASEAN shall be English” | “ภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ” ความหมายที่เป็นที่เข้าใจในขั้นต้นก็เป็นเพียงเรื่องของทางราชการและภาคธุรกิจเอกชนเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเพียงเท่านี้ก็เป็นเรื่องปรกติธรรมดาของการทำงานในโลกปัจจุบันอยู่แล้ว แม้จะหมายความเพียงว่าเป็นการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารระหว่างกันในการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่รัฐบาล ตลอดจนองค์กรและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทว่าความหมายของบทบัญญัติที่ให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของอาเซียนสำหรับการทำงานร่วมกันนั้นมีความหมายกว้างไกลไปถึงทุกส่วนของประชาคมอาเซียนด้วย หมายความว่าประชาชนพลเมืองใน 10 ประเทศอาเซียนจะต้องใช้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น นอกเหนือจากภาษาประจำชาติหรือภาษาประจำถิ่นของแต่ละชาติแต่ละชุมชนเอง เพราะไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่จะต้องไปมาหาสู่ร่วมประชุมปรึกษาหารือและสื่อสารกัน และไม่เฉพาะนักธุรกิจและคนทำมาค้าขายระหว่างประเทศเท่านั้นที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารและการติดต่อธุรกิจระหว่างกัน แต่ในเมื่อทุกคนที่อยู่ในอาเซียนล้วนแล้วแต่เป็นพลเมืองของอาเซียนด้วยกันทุกคน และทุกคนจะต้องไปมาหาสู่ เดินทางท่องเที่ยว ทำความรู้จักคุ้นเคยต่อกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และที่สำคัญทุกคนจะต้องเดินทางข้ามพรมแดนเพื่อหางานทำและแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้กับชีวิต ดังนั้นภาษาอังกฤษจึงเป็นเครื่องมืออันดับหนึ่งสำหรับพลเมืองอาเซียน ในการสื่อสารสร้างสัมพันธ์สู่โลกกว้างของภูมิภาคอาเซียน โลกแห่งมิตรไมตรีที่ขยายกว้างไร้พรมแดน โลกแห่งการแข่งขันไร้ขอบเขตภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม 

ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาที่สองของชาวอาเซียน เคียงคู่ภาษาที่หนึ่งอันเป็นภาษาประจำชาติของแต่ละคน 

ส่วนภาษาที่สามของชาวอาเซียนนั้นก็คือภาษาอื่นในอาเซียนภาษาหนึ่งภาษาใดหรือมากว่าหนึ่งภาษา เช่นภาษามาเลย์ ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาจีน ภาษาลาว ภาษาขแมร์ ภาษาเวียดนาม ภาษาพม่า ภาษาฟิลิปปิโน ภาษาฮินดี และ ภาษาทมิฬ นอกจากนั้นยังมีภาษาของประเทศนอกภูมิภาคอาเซียนที่เป็นประเทศคู่เจรจาสำคัญของอาเซียนอีกแปดประเทศคือ: จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และ รัสเซีย ซึ่งหมายความว่าจะต้องเรียนรู้ภาษาที่นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ คือ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษารัสเซีย และภาษาที่ใช้ในอินเดียอีกหลายภาษา (ฮินดี, อูรดู, ทมิฬ, เบงกาลี ฯลฯ)

ภาษาอังกฤษ: ในฐานะภาษาสำคัญของโลก ภาษาอังกฤษปัจจุบันคือภาษานานาชาติ เป็นภาษากลางของโลก ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของมนุษยชาติ เป็นภาษาที่มนุษย์บนโลกใช้ติดต่อระหว่างกันเป็นหลัก ไม่ว่าแต่ละคนจะใช้ภาษาอะไรเป็นภาษาประจำชาติ เมื่อต้องติดต่อกับคนอื่นที่ต่างภาษาต่างวัฒนธรรมกันทุกคนจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ทุกชาติทุกภาษาจึงบรรจุวิชาภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองรองลงมาจากภาษาประจำชาติ เป็นแกนหลักของหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาตลอดชีวิต แต่เมื่ออาเซียนกำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็น “working language” เราจึงต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ตามความหมายของถ้อยคำว่าเป็น “ภาษาทำงาน” ของทุกคนในอาเซียน ทุกคนที่ “ทำงานเกี่ยวกับอาเซียน”, “ทำงานในอาเซียน”, ทำงานร่วมกับเพื่อนอาเซียน”, “มีเครือข่ายประชาสังคมอาเซียน”, “แสวงหาโอกาสทางการศึกษาในอาเซียน”, “มีเพื่อนในอาเซียน” และ “เดินทางท่องเที่ยวในอาเซียน”

ทุกคนต้องเรียนรู้และใช้ภาษาอังกฤษให้ได้ทั้งสิ้น ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี  ไปจนถึงเกษตรกรชาวไร่ชาวนา ชาวบ้านทั่วไป นักเรียน นักศึกษา เด็กและเยาวชน ฯลฯ

คนทำงานเกี่ยวกับอาเซียน : 

คนที่ทำงานโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องของอาเซียน หมายถึงตั้งแต่พนักงาน เจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน ไปจนถึงคนทำงานในสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ทุกคนต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก 

ข้าราชการไทยทุกกระทรวงทบวงกรม จะต้องมีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ และใช้ได้ดีด้วย เพราะงานเกี่ยวกับอาเซียนนั้นเกี่ยวกับทุกกระทรวงทบวงกรม จากนี้ไปควรเป็นนโยบายของรัฐบาลในการบรรจุข้าราชการทุกระดับทุกหน่วยงานโดยคำนึงถึงความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสำคัญ ไม่ว่าตำแหน่งราชการนั้นๆจะเกี่ยวข้องกับงานอาเซียนโดยตรงหรือไม่ก็ตาม เพราะถึงอย่างไรงานทุกระดับในหน่วยราชการจะต้องเกี่ยวข้องกับอาเซียนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมทั้งสิ้น รัฐบาลควรมี นโยบายระยะสั้นเฉพาะหน้าในช่วงเวลาก่อนถึงปี             2558/2015       อันเป็นปีบรรลุเป้าหมายการสร้างประชาคมอาเซียน ว่าจะปรับขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของข้าราชทุกคนทุกระดับแล้วปรับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนข้าราชการที่พัฒนาขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้แล้วให้ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ให้ได้เงินเดือนสูงพอหรือสูงเหนือเงินเดือนปรกติในระบบราชการปัจจุบัน สูงจนเป็นที่ดึงดูดคนที่มีขีดความสามารถสูงหันมาสนใจรับราชการโดยไม่ลังเลว่าจะไปทำงานภาคเอกชนดีกว่าหรือไม่ สูงจนมาตรฐานการตอบแทนภาครัฐเทียบเท่าหรือดีกว่าภาคเอกชน 

นโยบายระยะสั้นเฉพาะหน้าของระบบราชการก็คือพัฒนาบุคคลากรที่พัฒนาได้แล้วปรับเงินเดือนส่วนที่พัฒนาได้มาตรฐาน ที่เหลือก็ค่อยๆพัฒนาและปรับผลตอบแทนต่อไปในระยะยาว ข้าราชการที่ไม่ปรับตัวก็ให้อยู่อย่างปรกติธรรมดาเหมือนเดิมแบบชีวิตไม่เปลี่ยนแปลงต่อไป เนื่องจากการเรียนภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเรียนรู้ได้เสมอเหมือนกันทุกคน ทุกวัย ทุกวัฒนธรรม ไม่เกี่ยวกับภูมิปัญญาพิเศษใดๆ ใครๆก็เรียนภาษาใหม่ได้ ใครๆก็เรียนภาษาอังกฤษได้- ถ้าอยากจะเรียน -ไม่มีข้ออ้างว่ายากจน เรียนไม่ไหว หรืออายุมากแล้ว “ลิ้นแข็ง” เรียนไม่ได้แล้ว ภาษาเป็นทักษะ เรียนรู้ได้ด้วยการฝึกฝน ใช้มากๆ ใช้บ่อยๆ เท่านั้นเอง ถ้าขยันเรียนก็ใช้ภาษาอังกฤษได้ในเวลาไม่นาน วิธีสร้างแรงจูงใจโดยการปรับขึ้นเงินเดือนเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งในระบบราชการจึงเป็นแรงจูงใจอย่างมีเหตุผลดีในการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของข้าราชไทยยุคประชาคมอาเซียน

นโยบายระยะยาว ก็ควรเป็นการให้ขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นมาตรฐานกลางของระบบราชการโดยปรับเงินเดือนและผลตอบแทนอื่นๆให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ หากทำเช่นว่านี้ได้ก็เป็นเหตุผลที่ชอบธรรมในการปรับฐานเงินเดือนและผลตอบแทนให้ข้าราชการทุกคน

พนักงานประจำสำนักเลขาธิการอาเซียน สำหรับคนที่ต้องการจะไปทำงานเกี่ยวกับอาเซียนโดยตรงในสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา หรือสำนักงานสาขาในประเทศอื่นที่จะมีในอนาคต ตลอดจนผู้ที่จะไปทำงานให้กับรัฐบาลประเทศสมาชิกอื่นของอาเซียน กล่าวโดยตรงก็คือคนที่จะไปรับราชการในประเทศอาเซียนอื่น ซึ่งในอนาคตจะเป็นเรื่องจริงที่เป็นไปได้ เพราะแต่ละรัฐสมาชิกจะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ผู้รู้เกี่ยวกับอาเซียนและรัฐสมาชิกอื่นในระบบการทำงานของราชการ (หรือรัฐการ) ของตน ประเทศในอาเซียนจะมีความต้องการว่าจ้างคนไทยที่มีความรู้ความสามารถเรื่องไทยและเรื่องอาเซียนให้เข้ารับราชการในประเทศของตน ชาวไทยที่แสวงหาโอกาสใหม่ๆให้กับชีวิตก็ต้องเตรียมพร้อมเรื่องภาษาอังกฤษก่อนเรื่องอื่นใด ในยุคอาณานิคม แม้ไทยจะมิได้เป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่รัฐบาลสยามก็จ้างชาวอังกฤษมาเป็นอธิบดีกรมป่าไม้คนแรก และจ้างชาวดัทช์มารับราชการในกรมชลประทาน และ จ้างชาวอังกฤษมาเป็นครูในพระราชวังและในระบบการศึกษาพื้นฐาน ในปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศของไทยและของชาติสมาชิกอาเซียนอื่นก็ล้วนแล้วแต่มีกรมกิจการอาเซียนด้่วยกันทั้งนั้น และย่อมเป็นไปได้ที่แต่ละหน่วยงานจะมีความจำเป็นต้องจ้างชาวไทยเข้าสู่ระบบราชการของแต่ละประเทศด้วย ในทางกลับกันระบบราชการไทยก็จะมีความจำเป็นที่ต้องจ้างชาวลาว เขมร พม่า เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และ ฟิลิปปินส์ มาทำงานในกระทรวงต่างๆของไทย ทำนองเดียวกันกับที่สถาบันการศึกษาต่างๆจ้างครูชาวต่างชาติ

ถึงเวลาแล้วที่ชาวไทยจะต้องพัฒนาตนเองในการเรียนรู้ให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ในประชาคมอาเซียน ณ วันนี้เป็นต้นไป


คนทำงานในอาเซียน :

จากนี้ไปจนถึงปี ค.ศ. 2015 หรือ พ.ศ. 2558 แรงงานมีฝีมือหรือมีทักษะและนักวิชาชีพทั้งหลายจะสามารถเดินทางข้ามประเทศในภูมิภาคอาเซียนไปหางานทำได้สะดวกมากขึ้นและจะทำได้โดยเสรีในที่สุด ตามความตกลงว่าด้วยเรื่องมาตรฐานกลางของทักษะและคุณภาพงานของแต่ละอาชีพที่หน่วยงานตัวแทนรัฐบาลทั้งสิบประเทศในอาเซียนจะทยอยรับรองมาตรฐานวิชาชีพต่างๆไปเป็นระยะๆ มาถึงปี 2011/2554 นี้มีการเจรจาตกลงในมาตรฐานกลางของวิชาชีพที่สำคัญไปบ้างแล้วเช่นวิชาชีพ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล บัญชี ช่างสำรวจ และสถาปนิก บางวิชาชีพยังอยู่ระหว่างการประชุมเจรจาต่อรอง บางอาชีพก็จัดทำมาตรฐานเสร็จแล้ว และทุกๆสองปีอาเซียนก็จะประเมินว่าจะมีวิชาชีพใหม่ใดบ้างที่ผ่านการรับรองมาตรฐานกลาง แม้ถึงปี 2015 จะยังเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการรับรองมาตรฐานกลางของทุกอาชีพในอาเซียน แต่อาชีพที่สำคัญๆอาจจะตกลงกันได้มากขึ้น ซึ่งก็จะหมายความว่าการเรียนการสอน การฝึกอบรมเพื่อนำไปสู่การเดินทางข้ามประเทศไปหางานทำในประเทศอื่นในอาเซียนด้วยกันจะต้องทำโดยคำนึงถึงมาตรฐานกลางของอาเซียน เพื่อให้ผู้ที่เรียนจบวิชาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล บัญชี ช่างสำรวจ สถาปนิก ฯลฯ จากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะสามารถไปทำงานในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องไปสอบใหม่ตามมาตรฐานของแต่ละประเทศต่างหากอีก ทำนองเดียวกันคนจากประเทศอื่นในอาเซียนก็จะสามารถมา สมัครงาน หางานทำ หรือแย่งงานเราไปทำได้ เพราะมีคุณสมบัติตามมาตรฐานวิชาชีพอาเซียน ในเรื่องนี้เองที่ภาษาอังกฤษจะเป็นมาตรฐานกลางที่สำคัญอันจะนำไปสู่การเรียน การฝึกฝนอบรมในทักษะวิชาชีพต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ดังนั้นคนไทยทุกคนจึงจำจะต้องเรียนรู้และใช้ภาษาอังกฤษให้ได้และให้ดีไม่แพ้ชาวสิงคโปร์ มาเลเซีย และชาวชาติอื่นๆในอาเซียน หากทำได้อย่างน้อยก็จะเป็นการปกป้องโอกาสในการทำงานในประเทศไทยของเรามิให้เพื่อนอาเซียนมาแย่งงานของเราไปได้ แต่หากเราไม่เก่งทั้งทักษะภาษาและทักษะวิชาชีพเราก็จะหางานทำในประเทศของเราเองสู้คนชาติอื่นไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่เราจะเข้าไปแข่งขันหางานทำในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ การมีทักษะวิชาชีพเสมอกันในคุณภาพแต่กลับความอ่อนด้อยในเรื่องภาษาอังกฤษก็เป็นจุดอ่อนที่จะทำให้โอกาสการหางานทำในอาเซียนลดลง แม้จะหางานทำในประเทศไทยเองก็ตามก็จะยากมากขึ้น

คนทำงานร่วมกับเพื่อนอาเซียน :                                         
สำหรับบุคคล องค์กร หรือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศไทย ต่อไปนี้จะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงาน การทำธุรกิจ และการแบ่งแยกย่อยส่วนการผลิตสินค้าและการบริการแบบข้ามพรมแดนกันมากขึ้น สินค้าชนิดหนึ่งอาจมีการลงทุนร่วมกันแต่แยกสถานที่ผลิตชิ้นส่วนต่างๆไปในแต่ละประเทศ จากนั้นจึงเอาชิ้นส่วนทั้งหลายมาประกอบเป็นสินค้าหนึ่งชนิดได้ ตามนิยามเขตการค้าเสรีอาเซียนที่ว่าให้อาเซียนเป็น “ตลาดเดียว” และ “ฐานการผลิตเดียว” บริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆอาจจะจดทะเบียนเป็นบริษััทเดียวกันแต่มีโรงงานผลิตช้ินส่วนแยกอยู่ในหลายประเทศ หรืออาจมีบริษัทต่างๆในหลายประเทศร่วมกันเป็นเครือข่ายการผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน ก็เป็นไปได้ทั้งสองแบบ ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความสามารถในการสื่อสารภาษากลางคือภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี หากทำได้ดังนี้กิจการงานร่วมลงทุกร่วมผลิตร่วมแข่งขันกันหาตลาดก็จะเป็นไปได้ด้วยดี หากเราทำไม่ได้ ย่อมมีคนอื่นบริษัทอื่นที่พร้อมกว่าสามารถทำได้และแย่งงานแย่งตลาดเราได้เสมอ เรื่องนี้เป็นการแข่งขันเสรีตามกฏกติกาที่อาเซียนกำหนดมาตรฐานร่วมกัน คนไทยและนักธุกิจไทยมีมารฐานการทำงาน การผลิตและการค้าบริการไม่เป็นรองใครในอาเซียน และขนาดเศรษฐกิจของไทยก็ใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน รองลงมาจากอินโดนีเซีย หมายความว่าไทยมีความมั่งคั่งให้ชาวไทยด้วยกันเองได้ฉกฉวยโอกาสได้ก่อน แต่เมื่ออาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกันแล้วความอ่อนด้อยทางภาษาอังกฤษของเราจะผันแปรให้เรากลายเป็นเพียงลูกจ้างระดับล่างไปมากกว่าที่จะเป็นนายจ้าง หรือเป็นผู้บริหารกิจการแม้ในประเทศของเราเอง 

คนมีเครือข่ายประชาสังคมอาเซียน :                                                                         

ภาคประชาสังคม หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Civil Society เป็นกลุ่มเครือข่ายการทำงานเพื่อปกป้องหรือผลักดันผลประโยชน์สาธารณะ ประชาชนพลเมืองในอาเซียนทุกวันนี้รวมตัวกันในภาคประชาชนพลเมือง หรือ “ประชาสังคม” มากขึ้น การประชุมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกลุ่มพลเมืองในสิบประเทศอาเซีียนมีมากขึ้น การเดินทางไปมาหาสู่ ประชุมสัมมนา และชุมนุมเรียกร้องในประเด็นสาธารณะข้ามพรมแดนจะมีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น องค์กรพัฒนาภาคเอกชน หรือกลุ่มประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การเมืองและประชาธิปไตย ในอนาคตข้างหน้าอาจมีการรวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องในประเทศอาเซียนประเทศใดประเทศหนึ่งโดยมีผู้ชุมนุมมาร่วมกันสนับสนุนจากประเทศอื่นๆในอาเซียนด้วย ดังนั้นภาคประชาสังคมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กัน หรือแม้กระทั่งในการชุมนุมประท้วงข้ามชาติร่วมกัน ในอดีตที่ผ่านมาและในปัจจุบันมักจะพบว่าการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมร่วมขององค์กรพัฒนาเอกชนหรือภาคประชาสัมคมในอาเซียนนั้น ผู้ที่แสดงความคิดเห็นได้มากกว่าและควบคุมกำกับทิศทางของความเห็นในที่ประชุมได้ผลดีกว่า มักจะเป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ดี เช่นจากฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์และมาเลเซีย คนไทยมักจะแสดงความคิดเห็นได้น้อยและได้เพียงสั้นๆ แม้จะมีความคิดเห็นดีแต่พูดไม่ได้ พูดไม่เป็น ใช้ภาษาอังกฤษได้กระท่อนกระแท่น บทบาทของคนไทยในเวทีสาธารณะอาเซียนจึงอ่อนด้อยและอาจถึงเงียบงัน

คนแสวงหาโอกาสทางการศึกษาในอาเซียน :                                                             

ในอนาคตอันไม่ไกล โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และ บุคคลากรทางการศึกษาต่างๆจะมีมากขึ้น ทั้งแบบระยะสั้นเช่นการเดินทางศึกษาดูงานหรือร่วมประชุมทางวิชาการ และแบบระยะยาว เช่นการแลกเปลี่ยนครูอาจารย์ในงานสอนและงานวิจัย การให้นักเรียนนักศึกษาโอนหน่วยกิตข้ามไปศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในประเทศอาเซียนอื่นได้เป็นภาคการศึกษาหรือเป็นปีการศึกษาจะเริ่มมีในไม่ช้า การที่จะเรียนจบได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศไทย จะเปิดกว้างให้นิสิตนักศึกษาย้ายไปเรียนเพิ่มหน่วยกิตที่มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฯลฯ ด้วยก็เป็นไปได้ ในที่สุดแล้วการเรียนการสอน หรือการศึกษาในอาเซียนทั้งระบบจะเป็นมาตรฐานเดียวกันเป็นอย่างต่ำ และจะเป็นมาตรฐานสูงระดับนานาชาติเสมอเหมือนกันทุกสถาบัน ความสำเร็จของครู อาจารย์ และนักศึกษา ขึ้นอยู่กับความสารถในการใช้ภาษาอังกฤษในการแสวงหาวิชาความรู้เป็นสำคัญด้วย นอกเหนือจากภาษาประจำชาติต่างๆในอาเซียนที่นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเป็นเงาตามตัวกับความสำคัญของภาษาอังกฤษ

คนมีเพื่อนในอาเซียน :                          

สำหรับคนมีเพื่อนในอาเซียนก็คล้ายกันกับคนที่มีเพื่อชาติอื่นที่จะต้องสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐาน ก่อนที่จะสามารถสื่อสารกันด้วยภาษาประจำชาติของแต่ละคน การมีเพื่อต่างชาติ โดยเฉพาะเพื่อนชาวอาเซียนด้วยกัน ในอนาคตจะเป็นเรื่องปรกติธรรมดา อาจจะเป็นเพื่อนที่ได้จากการทำธุรกิจร่วมกัน หรือเป็นเพื่อนทางสังคมและวัฒนธรรมที่ได้จากการมีเครือข่ายประชาสังคม การเป็นเพื่อนกันในวัยเรียนที่เรียนข้ามชาติกัน หรือเป็นมิตรกันมาจากโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งหมดนี้จะเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตของพลเมืองอาเซียนในหนึ่งถึงสองทศวรรษหน้าอย่างแน่นอน ความสำคัญของภาษาอังกฤษในเรื่องการผูกมิตรสร้างเพื่อนข้ามพรมแดนรัฐ จะเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องย้ำให้มากมายนักอีกต่อไปแล้ว ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้้าผู้รู้ภาษาอังกฤษจะมีเพื่อนในอาเซียนมากกว่าผู้ที่ด้อยทักษะภาษาอังกฤษ ผู้ทีด้อยทักษะภาษาอังกฤษก็จะมีวิถีการดำเนินชีวิตแบบเดิม ไม่โลดโผนตื่นเต้นหรืออุดมไปด้วยสีสันวัฒนธรรมข้ามชาติเท่ากับผู้ที่มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษดีกว่า

คนเดินทางท่องเที่ยวในอาเซียน :              

ด้วยแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การมีถนน ทางหลวง ทางรถไฟ และเส้นทางคมนาคมทางเรือและทางอากาศ ที่จะเชื่อมโยงสิบประเทศอาเซียนกันมากขึ้นดีขึ้น และสะดวกรวดเร็วปลอดภัยขึ้น นักเดินทางท่องเที่ยวในอาเซียนในอนาคตอันใกล้จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น การเดินทางไปเที่ยวในประเทศอื่นๆในอาเซียนด้วยกันเองจะมีมากจนเป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่“ใครว่างสักวันสองวันก็อาจขับรถไปกินข้าวบ้านเพื่อนที่เวียงจันทน์แล้วชวนกันไปเที่ยวฮานอยกันสักสองวัน” ก็ได้โดยไม่ต้องวางแผนอะไรกันมากนัก การเชื่อมโยงอาเซียนจะง่าย สะดวก ประหยัด รวดเร็วปลอดภัยอย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้มาก่อน ความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวในอาเซียนจะทำให้ชีวิตสนุกสานได้เข้าใจรากฐานทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมอันเกิดจากการเดินทางท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ในที่สุดก็จะนำไปสู่การมีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนที่สมบูรณ์                                                                                            

ทักษะภาษาอังกฤษจึงเป็นประตูไปสู่อาชีพการงานที่ก้าวหน้ากว้างไกลในอาเซียน ความสามารถในการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษทำให้ชีวิตมีคุณค่าสนุกสนานมีสีสันวัฒนธรรมร่วมกันในภูมิภาคอาเซียนได้เป็นอย่างดี

ปี 2015/2558 เป็นที่ชาวไทยจะต้องเข้าร่วมประชาคมอาเซียนอย่างไม่มีข้อยกเว้น ภาษาอังกฤษเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะเปิดประตูแห่งประชาคมอาเซียนให้ชาวไทยไปมาหาสู่คบค้าสมาคมกับเพื่อนอาเซียนทั้งหลายได้อย่างสมภาคภูมิ

ภาษาอังกฤษเรียนไม่ยาก สำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย 

ปีเดียวก็พัฒนาทักษะภาษาได้...ถ้าต้องการพัฒนา 

สมเกียรติ อ่อนวิมล 
24 กรกฎาคม 2554

สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

การทำปลาร้า

ใครที่ชอบทานปลาร้า วันนี้เกร็ดความรู้มีวิธีการทำปลาร้ามาฝากกัน....
การทำปลาร้ามี 3 ขั้นตอนดังนี้
1. ล้างปลาให้สะอาด ถ้าเป็นปลาที่มีเกล็ดขนาดใหญ่ต้องขอดเกล็ดก่อน หากมีขนาดเล็กอย่างปลาซิวก็ไม่ต้อง ปลาที่นำมาทำปลาร้ามีทั้งปลาหนัง (ปลาที่ไม่มีเกล็ด) และปลาที่มีเกล็ด ได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลาขาวนา ปลาขาวสูตร ปลาขาวมล ปลาซิว ปลากระดี่ ปลาหมอ ปลาตอง ปลาก่า กุ้งและปูเล็ก ๆ ปลาที่นำมาทำปลาร้าต้องแยกขนาดปลาเล็ก ปลาใหญ่ ไม่ทำปะปนกัน

 

2. เอาไส้และขี้ปลาออกจากตัวปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาขนาดใหญ่ ถ้าขนาดเล็กต้องใช้เวลามากจึงไม่นิยมเอาออก ล้างปลาให้สะอาดใส่ตะแกรงผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วใส่เกลือ ข้าวคั่ว หรือรำให้ได้สัดส่วน 6 : 2 : 1 คือ ปลาหกถ้วยใส่เกลือสองถ้วย ใส่รำหรือข้าวคั่วหนึ่งถ้วย แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน ให้เกลือดูดซึมเข้าในเนื้อปลา ถ้าหากปลาและเกลือผสมกันได้สัดส่วนตัวปลาจะแข็งและไม ่เละ ถ้าตัวปลาเหลวไม่แข็งพอ ควรโรยเกลือลงคลุกอีก 

3. นำลงบรรจุใส่ภาชนะ เช่น ไหหรือตุ่มที่ล้างสะอาดและแห้งแล้ว ใส่ปลาให้ต่ำกว่าระดับขอบปากไหเล็กน้อย ปิดปากไหด้วยผ้าหรือพลาสติก ถ้าเป็นไหซองชาวบ้านนิยมใช้ผ้าห่อขี้เถ้าให้เป็นก้อน โตกว่าปากไหแล้วนำมาปิดทับ เพื่อป้องกันแมลงวันมาไข่ หมักทิ้งไว้จนมีน้ำเกลือไหลท่วมปลาในไห และตัวปลาออกเป็นสีแดงกว่าเดิม แสดงว่าเป็นปลาร้าแล้ว เวลาที่ใช้หมักอาจแตกต่างกันไปตามขนาดของตัวปลา แต่อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5-8 สัปดาห์ หรือนานที่สุดอาจถึงหนึ่งปี ปลาร้าที่หมักหกเดือนไปแล้วถือว่าปลอดภัยไม่มีพยาธิ
 
รู้อย่างนี้แล้ว ถ้าอยากทานปลาร้า ก็ลองนำวิธีที่แนะนำไปทำทานกันดูได้


ช่วงนี้มีงาน Party (กรุณาออกเสียง สำเนียงให้ถูกนะคะ อ่านว่า พาร์-ธี่)  บ่อยๆ  เรื่องโต๊ะจง โต๊ะจีน   ค็อกทง ค็อกเทล หรือจะเป็น Buffet  ทุกคนก็คงคุ้นเคยกันอยู่แล้ว  ไม่จำเป็นต้องมา said ให้มากความ  วันนี้ women.mthai จะมาขอพูดถึง มารยาทบนโต๊ะอาหารแบบทางตะวันตก  ที่ถ้าใครเคยเข้าวงสังคมชั้นสูง ก็ต้องเคยตื่นตะลึงวางตัวไม่ถูกอยู่บ้างว่าจะเริ่มจากอะไร อย่างไรก่อนดี    เริ่มง่ายๆ ดังนี้ค่ะ

ผ้าเช็ดปาก 

     เมื่อเรานั่งลงที่โต๊ะจะเห็นผ้าเช็ดปากม้วนจัดวางอย่างสวยงาม ให้คลี่ออกมา แล้วพับครึ่งโดยหันด้านที่เป็นขอบออกจากหน้าตักค่ะ  ไม่วางคลี่เต็มหน้าตักนะคะ  ไม่สุภาพค่ะ
    ระหว่างนั้นหากต้องการเช็ดปาก   ให้ยกผ้าด้านในขึ้นแตะปากเบาค่ะ   อย่าเช็ดถู ปาดซ้าย -ขวานะคะ   แตะเบาๆ ก็พอค่ะ  เอาให้พองาม  จากนั้นให้พับผ้าไว้ที่หน้าตักอย่างเดิมค่ะ  รอยเปื้อนก็จะอยู่ด้านในของผ้าค่ะ 
     หากระหว่างมื้ออาหารคุณต้องการลุกไปทำธุระส่วนตัว  ให้วางผ้าเช็ดปากไว้บนเก้าอี้ค่ะ  แต่ถ้าคุณอิ่มแล้ว  ก็วางผ้าเช็ดปากไว้บนโต๊ะได้เลย ไม่ต้องพับค่ะ บริกรจะได้รู้ว่า สามารถเก็บโต๊ะได้แล้วค่ะ

ช้อน-ส้อม 

     บนโต๊ะ จะมีเมนูอาหารวางไว้นะคะ เพื่อเป็นไลน์ให้กับแขกว่าจะมีเมนูใดบ้าง  เริ่มไล่จาก Appetizer , Main Course และก็ Dessert ค่ะ
     อาวุธที่เราจะใช้ก็ไล่ไปตามประเภทอาหารที่ว่ามาค่ะ  โดยจะเริ่มใช้จากด้านนอกเข้าหาในค่ะ โดยปกติจะมีจานเล็กๆ พร้อมมีดปาดเนยซึ่งจะอยู่ทางซ้ายมือของแขก นั่นเป็นจานสำหรับขนมปังค่ะ 
   

ขนมปัง  

    เจ้าภาพจะเป็นผู้ถือตะกร้าขนมปังส่งเวียนให้สุภาพสตรีที่นั่งทางขวาก่อนแล้วค่อยวนส่งต่อๆ กันไปค่ะ   หรือ บางครั้ง บริกรก็จะเป็นผู้เสิร์ฟให้แขกแต่ละท่าน จากนั้น ให้ใช้มือค่อยๆ บิขนมปังเป็นคำเล็กๆ พอดีคำทานเอาคำต่อคำนะคะ  (ฝรั่งมังฆ้องเขาไม่ใช้มีดปาดเนยตัดขนมปังนะคะ  ไม่งามค่ะ)



ซุป 

      เมื่อขนมปังมา จานถัดมาก็จะเป็นซุปค่ะ  ให้คุณจำไว้ว่าชอนซุปจะอยู่ทางขวาสุดเสมอค่ะ  การตักซุป ให้ตักซุปออกด้านนอก  ถ้าจะปาดก้นช้อนซุป  ให้ปาดกับขอบจานซุป ออกจากตัวค่ะ แล้วจึงค่อยๆ จิบจากด้านข้างช้อน ไม่ซดเข้าปากแบบเต็มคำนะคะ  Nope No ค่ะ ผู้ดีอังกฤษเค้าไม่ทำกัน !!!
       ข้อควรระวัง คือระหว่างทานจะต้องไม่มีเสียงซู้ดซ้าด  หรือ เสียง ช้อน – ส้อม ดังกระทบจานนะคะ

   เมื่อรับประทานซุปเรียบร้อยแล้วให้วางช้อนหงายไว้ดังภาพ
         

Main Course 

      เราใช้มือขวาจับมีดโดยวางนิ้วชี้ไว้บนสันมีด ส่วนมือซ้ายถือส้อมโดยใช้นิ้วชี้กดด้านหลังส้อม จะทำให้มีแรงกดชิ้นเนื้อบนจานได้ค่ะ  เวลาทานให้ใช้ส้อมจิ้มคว่ำเอาเข้าปาก ไม่ใช้มีดจิ้มเข้าปากนะคะ  ถือเป็นการไม่สำรวมอย่างแรงค่ะ

          โดยปกติธรรมเนียมของฝั่งยุโรปเมนู  Main Course จะมีหลายจานนะคะ ดังนั้นเมื่อทานเรียบร้อยในแต่ละจาน ของ Main Course ให้วางมีดและส้อมในตำแหน่งเดิมข้างๆ จานค่ะ

         เมื่อทานเสร็จและหมดเมนูอาหาร Main Course แล้วให้รวบมีดและส้อมไว้บนจาน โดยวางส้อมหงายขึ้นและวางคมมีดเข้าหาตัวค่ะ ดังภาพด้านล่างค่ะ
 


       หมายเหตุ : ถ้าเป็นสเต็ก โดยมารยาทชาวอังกฤษ จะหั่นทานพอดีคำ แล้วค่อยทานคำต่อคำค่ะ  เมื่อเคี้ยวใกล้เสร็จแล้วจึงค่อยหั่นคำต่อไป  โดยทั่วไปมักจะนับถือวิธีการทานแบบนี้มากกว่าวิธีการหั่นสเต็กแบบอเมริกาค่ะ  คือการ หั่นเนื้อไว้ให้หมดก่อนแล้วจึงค่อยลงมือทาน  โดยสากล ถือว่าวิธีหลังเป็นมารยาทที่ไม่สุภาพค่ะ 
 

ชา/กาแฟ 

      ช้อนชา/กาแฟ ไว้ใช้คนแต่เพียงอย่าเดียวค่ะ  ห้ามนำเข้าปาก เมื่อคนเสร็จให้วางไว้บนจานรองค่ะ  การวางช้อนคาไว้ในถ้วยถือเป็นสิ่งไม่สุภาพค่ะ