My experiences

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มองบทบาทแรกรัฐสภาพม่ายุคประชาธิปไตย

รัฐสภาพม่าเริ่มการพิจารณาแผนการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล นับเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายนิติบัญญัติของพม่าได้ทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นทางการ

นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่น่าจับตามองของพม่าในการพัฒนาประเทศเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย เมื่อรัฐสภาพม่า เริ่มหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ในการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณแผ่นดินที่เสนอโดยรัฐบาลของพลเอกเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า หลังจากตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมาซึ่งประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มเผด็จการทหาร สิทธิ์ขาดในการบริหารงบประมาณแผ่นดินตกอยู่ในมือของรัฐบาลแต่เพียงผู้เดียว

โดยแผนการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลที่กำลังจะถูกเสนอต่อรัฐสภานี้ มุ่งเน้นที่การใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม โดยเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาถึง 2 เท่า และเพิ่มเงินสนับสนุนด้านการพัฒนาสาธารณสุขมากกว่า 4 เท่าจากปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากก่อนหน้านี้ สหประชาชาติรายงานว่าพม่าเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณเพื่อการสาธารณสุขต่ำที่สุดในโลก โดยคิดเป็นอัตราเพียงร้อยละ 1.8 ของงบประมาณแผ่นดิน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงอนุมัติงบประมาณให้แก่กองทัพถึงกว่า 2,350 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 50 โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่างบประมาณดังกล่าวมีความจำเป็น เนื่องจากทางกองทัพยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านความมั่นคงจากกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในประเทศ นอกจากนี้ รายละเอียดของงบประมาณด้านกลาโหมนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยและตรวจสอบได้ เนื่องจากทางกองทัพอ้างว่าการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวเป็นความลับทางราชการ

การที่สมาชิกรัฐสภาชุดนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2553 ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม และอีกส่วนหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง โดยที่โควต้าเกือบทั้งหมดยังคงเป็นของฝ่ายทหารซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่า ทำให้สมาชิกรัฐสภาเกือบทั้งหมดอยู่ในมือของรัฐบาล ซึ่งหนุนหลังโดยพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย อดีตผู้นำเผด็จการของพม่า ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเป็นเรื่องยาก ที่จะคาดหวังให้รัฐสภาจะมีอำนาจในการคัดค้านหรือแก้ไขนโยบายของรัฐบาลอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภาบางส่วนยังคงมีความหวังว่า ถึงแม้เสียงของพวกเขาจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลได้ แต่อย่างน้อย รัฐสภาก็เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้สมาชิกที่ทำหน้าที่ผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง ได้แสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เพื่อบรรลุหน้าที่หลักของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

Produced by VoiceTV

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น